ประวัติพระพุทธรูปปางนาคปรก
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข(การพบสุขที่เกิดเพราะความหลุดพ้น จากกิเลส)ที่สระมุจลินท์ ใต้ร่มไม้จิก ที่มีชื่อว่า มุจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์(ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เกิดฝนตกพรำไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคมุจลินท์ ผู้เป็นราชาแห่งนาค ได้ออกจากดินแดนนาค ทำขนดล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์ไม่ให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย เมื่อฝนหายแล้ว พญามุจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเป็นชายหนุ่ม ยืนถวายนมัสการพระพุทธองค์ที่หน้าพระพักตร์ จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า "สุโข วิเวโก ตุฏฺฐัสสะ สุตะธัมมัสสะ ปัสสะโต อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก ปาณะภูเตสู สัญญะโม สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สะมะติกฺกะโม อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ฯ" ความว่า "ความสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว ทำให้รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริง ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลกความนำออกเสียซึ่งอัสมินมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง”
พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขภายในวงขนดของพญานาคมุจจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกขึ้นมา