top of page

promwijitr

ก่อนจะมาเป็นโรงหล่อพระพรหมวิจิตร๒๕๐๗

          การทำงานของช่างหล่อพระที่บ้านช่างหล่อสมัยก่อน  จะทำงานแบบ ช่างคนเดียวสามารถทำเป็นทุกขั้นตอน เริ่มจาก ปั้นหุ่นดินเหนียว ถอดหุ่น บุขี้ผึ้ง ตอกทอย ติดชนวน ทำกระบวนเท ทาขี้วัวเข้าดินอ่อน ดินแก่ เข้าลวดผูกเหล็ก เข้าดินทับลวด ขึ้นทนก่อเตา เผาองค์พระ ทำน้ำทองเหลือง เททองเหลือง ขัดแต่ง ลงรัก ปิดทองคำ ฉะนั้นการทำงานส่วนใหญ่จึงเป็นแบบพึ่งพาตนเอง สิ่งใดเหนือบ่ากว่าแรง จะใช้วิธีขอแรงจากเพื่อนช่างมาช่วยกัน ผลัดกันช่วย จะไม่มีเจ้านาย ลูกน้อง มีแต่เพื่อน หรือ พี่กับน้อง และที่สำคัญคือมี ครูกับลูกศิษย์ 

          แต่ด้วยกฏเกณฑ์การทำงานแบบสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้ ช่างหล่อพระ จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ต้องเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นายวิศิษฐ์ แสงสายจันทร์ (ช่างเจ๊ก) ผู้ที่เติบโตมาจากบ้านช่างหล่อ และเป็นช่างที่มากด้วยฝีมือ จึงคิดก่อตั้งโรงงานหล่อพระพุทธรูปขึ้นมา  เพื่อให้เหมาะสม ถูกต้อง ตามกฏเกณฑ์และยุคสมัย

โรงหล่อพระ

พรหมวิจิตร๒๕๐๗

         นอกจากนี้ จากการดำเนินงานมาเป็นเวลานาน ทางโรงหล่อพระของเรายังได้สอนงาน และสร้างช่างแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ช่างต่าง ๆ ที่เคยมาร่วมงานกับโรงหล่อพระของเราส่วนใหญ่ ได้นำความรู้ที่ได้ออกไปก่อตั้งโรงหล่อพระพุทธรูปของตนเองตามที่ต่างๆทั่วประเทศ ทำให้เชื่อได้ว่าอาชีพช่างสร้างพระพุทธรูปจะไม่หมดไปจากเมืองไทย

         และท้ายสุดนี้  ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจสร้างพระพุทธรูป เคยคิดไหมว่าพระพุทธรูปที่ท่านทุ่มเท กำลังกาย กำลังใจ และ กำลังทรัพย์ ลงไป ที่สำคัญที่สุดคือ กำลังศรัทธา สร้างเป็นองค์จำลองพระศาสดาของชาวพุทธ ผู้ซึ่งทำให้โลกของเราสงบร่มเย็น สร้างเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งจะคงอยู่นานนับหลายร้อยหลายพันปี นับได้หลายชั่วอายุคนทีเดียว เป็นพระพุทธรูปที่เกิดจากฝีมือช่างคนไทย ในรูปลักษณะของพุทธศิลปะแบบชาวไทย ในภายภาคหน้าชนชาติอื่นจะนำไปกล่าวอ้างว่าเป็นศิลปะของชนชาติตนนั้นหาได้ไม่ และยิ่งมีค่ามีความหมาย ลงลึกลงไปอีก  หากพระพุทธรูปนั้น สร้างจากฝีมือช่างที่สืบทอดวิชาลงมาจากรุ่นสู่รุ่นของบรรพบุรุษ ผู้ทรงคุณค่า ผู้ที่ทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ ผลงาน ” อันแท้จริง 

ประวัติ

bottom of page