ประวัติพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้ว และสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง ประดับเบื้อง พระปฤษฎางค์ ปราณีต อ่อนช้อย งดงาม ช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราช งดงาม เด่นชัดเจนยิ่งขึ้น พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัยหมวดพิเศษ เพราะมี พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง วงพระพักตร์ ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูม เช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีพระอุณาโลมผลิก อยู่ระหว่างพระโขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝังด้วยแก้วนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาท แบนราบ ค่อนข้างแคบ เมื่อเทียบกับยุคสุโขทัย ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ
ตามตำนาน การสร้างพระพุทธชินราช พระมหาธรรมราชาที่ ๑
(พญาลิไทย) รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์ ได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ
พ.ศ.๑๙๐๐ พระพุทธรูป ที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้น มี ๓ องค์ คือ
๑. พระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบห้านิ้ว ณ วิหารใหญ่ทิศตะวันตก
๒. พระพุทธชินสีห์ หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบสี่นิ้ว ณ วิหารทิศเหนือ
๓. พระศรี ศาสดา หน้าตักกว้าง สี่ศอกคืบหกนิ้ว ณ วิหารด้านทิศใต้
ในการหล่อพระพุทธรูป เมื่อหล่อเสร็จแล้วยังมีทองเหลืออยู่ จึงเอามารวมกัน หล่อเป็นพระพุทธรูป นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง หนึ่งศอกเศษ เรียกพระนามว่า พระเหลือ กับพระสาว เป็นพระยืนอีก ๒ องค์ และอิฐที่ก่อเตาหลอมทองและสุ่มหุ่น ในการหล่อพระได้เอามารวมกันก่อเป็นชุกชี สูงสามศอก
ตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราชและปลูกต้นมหาโพธิ์บนชุกชี ๓ ต้น แสดงว่า เป็นมหาโพธิ์สถาน ของพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ทั้งสามองค์จึงเรียกว่า "โพธิ์สามเส้าสืบมา" พร้อมกันนั้นได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์หลักหนึ่ง และได้อัญเชิญพระเหลือพร้อมพระสาวเข้าประดิษฐาน ณ ในวิหารนั้น วิหารน้อย หลังนี้นิยมเรียกกันต่อมาว่า " วิหารพระเหลือ" หรือ "วิหารหลวงพ่อเหลือ" ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราชเยื้องไปทางใต้เล็กน้อย
พระพุทธชินราชในประเทศไทย มีพระนามว่า " พระพุทธชินราช" อยู่ ๒ องค์ คือ
๑.พระพุทธชินราช ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก
๒.พระพุทธชินราช ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร